วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
              วิชาเศรษฐศาสตร์  เป็นวิชาทางด้านสังคมศาสตร์  ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ของการทำให้เกิดการกินดีอยู่ดีของมนุษย์ในสังคม  วิชาเศรษฐศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์โดยตรง  เมื่อผู้คนมาอยู่รวมกันมีการผลิตผลซึ่งกันและกันเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่มากมายไม่จำกัด  ในขณะที่โลกมีทรัพยากรที่ใช้ทำการผลิตอยู่อย่างจำกัด  ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  โดยให้มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าและบริการอย่างประหยัด  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและจำแนกแจกจ่ายให้ผู้คนใช้บำบัดความต้องการได้อย่างทั่วถึงกันเพื่อให้มนุษย์ได้มีความอยู่ดีกินดี
           “เศรษฐศาสตร์” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Economics  ซึ่งมีรากมาจากภาษากรีก  คือ Okionomikos  หมายถึง  วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการครอบครัว  มีผู้ให้ความหมายของเศรษฐศาสตร์ไว้มากมายจึงสรุปได้ดังนี้
            เศรษฐศาสตร์   Economics  หมายถึง  การศึกษาถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการ  ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด  ให้เกิดประโยชน์สูงสุด         
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์
         แนวความคิดในทางเศรษฐศาสตร์  เกิดขึ้นมาช้านานแล้วโดยการแทรกอยู่ในหลักคำสอนทางศาสนาต่างๆ ตลอดจนหลักปรัชญาของกรีกยุคโบราณ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตให้มีความสุขตามอัตภาพ  แต่แนวความคิดดังกล่าวยังไม่ได้มีการประมวลไว้อย่างเป็นระบบที่ดี  จึงอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย  จนกระทั่งถึงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-16  ซึ่งเป็นยุคที่การค้าทางยุโรปเริ่มเจริญรุ่งเรือง  พ่อค้าในเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าเริ่มมีความคิดเห็นว่า  การค้าขายจะนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศได้นั้น  เกิดจากการส่งสินค้าออกให้มีมูลค่ามากกว่าการสั่งสินค้าเข้า  ทำให้เกิดลัทธิทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า  “ลัทธิพาณิชย์นิยม” (Mercantilism)
             จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 วิชาเศรษฐศาสตร์เริ่มเป็นศาสตร์เมื่อ  อดัม  สมิธ (Adam  Smith) ชาวอังกฤษ  ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์  ได้เขียนหนังสือชื่อ  “The Wealth of Nation”  ซึ่งเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรก  โดยคัดค้านแนวความคิดของพวกพาณิชย์นิยม  หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าควรจะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการโดยอิสระในการบริโภค  การผลิตสินค้าและบริการตามความถนัดของแต่ละบุคคล  โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและจริยธรรมจะช่วยทำให้ประเทศชาติมีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง  ครั้นพอถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อุตสาหกรรมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว  ประชากรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้เคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่ในเมืองอุตสาหกรรมจนเกิดความแออัด  ทำให้เกดปัญหาเรื่องค่าแรงงานกรรมกร  ปัญหาการว่างงาน  ปัญหาการใช้แรงงานสตรีและเด็ก  ปัญหาสินค้าล้นตลาด  ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทและแทรกแซงในภาคเอกชน  เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้เอง  คาร์ล  มาร์กซ์  (Karl  Marx) เสนอทฤษฎีค่าจ้างแรงงาน  และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาทางการเมือง  ปัญหาสังคม  และปัญหาเศรษฐกิจ  ครั้นพอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัลเฟรด  มาร์เชล  (Alferd  Marshall) ได้เสนอทฤษฎีว่าด้วยการผลิต (Theory  of  The  Firm)  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่มาของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค  (Microeconomic  Theory) พอถึงปี ค.. 1930 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลก  ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ  คือ จอห์น เมย์นาร์ด  เคนส์ (John  Maynard Keynes) ได้เสนอทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจ้างแรงงาน ดอกเบี้ย  และเงินตรา  (The General Theory of Employment Interest and Money) คัดค้านแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นก่อน ๆ  โดยเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเข้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำขณะนั้น  ต่อมาได้กลายเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic Theory)
 แขนงของวิชาเศรษฐศาสตร์
      ในการศึกษาเศรษฐศาสตร์  เพื่อสะดวกในการศึกษาจึงแบ่งศึกษาเป็น 2 แขนง คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค  และเศรษฐศาสตร์มหภาค
      เศรษฐศาสตร์จุลภาค(Microeconomics) เป็นการศึกษาถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจย่อย  หรือระดับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ  เช่น การศึกษาเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ในการบริโภค การเลือกซื้อสินค้าและบริการ  ความพึงพอใจของแต่ละบุคคลที่มีต่อสินค้าและบริการ  พฤติกรรมของผู้ผลิตในการตั้งราคาสินค้า  การคิดต้นทุนการผลิต  การจำหน่ายแจกจ่ายสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปยังผู้บริโภค  การศึกษากลไกตลาดและการใช้ระบบราคา  เพื่อจัดสรรสินค้าและบริการตลอดจนทรัพยากรอื่น ๆ  การที่เศรษฐศาสตร์จุลภาค  ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราคาในตลาดแบบต่าง ๆ  นักเศรษฐศาสตร์บางท่านจึงเรียกเศรษฐศาสตร์จุลภาคอีกชื่อหนึ่งว่า  ทฤษฎีราคา  (Price  Theory)
    เศรษฐศาสตร์มหภาค  (Macroeconomicsเป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระบบเศรษฐกิจ  อันได้แก่  การศึกษาเรื่องรายได้ประชาชาติ  การบริโภค  การออมและการลงทุนโดยรวม  การจ้างงาน  การภาษีอากร  การคลังสาธารณะ  การค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจ  เป็นต้น
                 เศรษฐศาสตร์  ทั้งสองส่วนนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด  การจะศึกษาแต่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ  เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นจริงในส่วนย่อยนั้น  อาจไม่เป็นจริงในส่วนรวม  เช่น  บุคคลหนึ่งรู้จักใช้จ่ายเงินให้น้อยกว่ารายได้  มีเงินฝากธนาคารจนร่ำรวยนับเป็นสิ่งดีสังคมยกย่องว่าเป็นผู้รู้จักประหยัดอดออม  แต่ถ้าทุกคนในชาติพากันอดออมรายได้ไว้ไม่นำมาใช้จ่ายกลับเป็นผลเสียแก่ประเทศชาติ  คือ  สินค้าที่ผลิตออกมาไม่มีผู้ซื้อ  ผู้ผลิตจึงต้องปิดโรงงานและเลิกจ้างคนงาน  เกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนติดตามมา
                เศรษฐศาสตร์  ทั้งสองส่วนนี้มีความสำคัญเท่า ๆ กันและจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจทั้งสองส่วนจึงจะช่วยให้เข้าใจการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั้งระบบได้ดียิ่งขึ้น
  ประโยชน์ของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
                  ผู้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์  สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ  เช่น
1.       ในฐานะผู้บริโภค  ช่วยให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดโดย
1.1   รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการบริโภคให้ดีที่สุด  ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความพึงพอใจแก่ตนเองสูงสุด
1.2   สามารถจำแนกชนิดของสินค้าหรืบริการที่มีประโยชน์  และใช้บำบัดความต้องการของตนเองและคนในครอบครัวได้ด้วยราคาที่ประหยัดที่สุด
1.3   สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายและกำหนดแผนการบริโภค  การออมและการกระทำกิจกรรมอื่น ๆ  ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
1.4   สามารถคาดคะเนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้  เช่น  การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ฯลฯ  ได้ถูกต้องหรือมีเหตุมีผล
2.       ในฐานะผู้ผลิตและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต  ทำให้เป็นผู้ผลิตที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด  โดยที่
2.1   มีความสำนึกอยู่เสมอว่า  ทรัพยากรที่นำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ มีอยู่จำกัด  ดังนั้น  จึงควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์หรือให้ผลตอบแทนสูงสุด
2.2   สามารถจัดสรรหรือแจกจ่ายสินค้าและบริการที่ผลิตได้  ไปยังผู้ที่สมควรได้รับสินค้านั้นมากที่สุดและตามความต้องการของบุคคลเหล่านั้น
3.       ในฐานะผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ  ทำให้เป็นผู้ที่ความรอบรู้  และสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.1   สามารถเข้าใจปัญหาทางเศรษฐกิจได้ดี  เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2   สามารถจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ  ได้ตามความจำเป็นและตามความต้องการของประชาชนและของประเทศ
3.3   สามรถวางนโยบายการดำเนินการทางเศรษฐกิจ  เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้แก่ประเทศได้ดียิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับศาสตร์อื่น
           วิชาเศรษฐศาสตร์  เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของสังคมศาสตร์  ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านการผลิต  การจำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภคเพื่อให้เกิดการกินดีอยู่ดี  (Well  being)  ตลอดจนศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้หมู่มวลมนุษย์ที่มีผลมาจากการอยู่รวมกันในสังคมและมีการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน  มีการปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ  ที่อยู่ในสังคมเดียวกันหรือต่างกัน  ดังนั้น  วิชาเศรษฐศาสตร์จึงต้องไปเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับวิชาอื่น ๆ  ได้แก่
1.       เศรษฐศาสตร์กับการบริหารธุรกิจ  เศรษฐศาสตร์กับการบริหารธุรกิจ   มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดที่สุดก็เพราะ  เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษากิจกรรมต่าง ๆ  ในระบบเศรษฐกิจ  ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดจนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุด  ในเรื่องที่เกี่ยวกับการผลิต  การบริโภค  การจำแนกแจกจ่ายและการแลกเปลี่ยน  ตลอดจนสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ  ส่วนการบริหารธุรกิจนั้นศึกษาเกี่ยวกับหน่วยธุรกิจว่าควรจะบริหารงานอย่างไร  จึงจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด  ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าวิชาการบริหารธุรกิจนั้น  เป็นการนำเอาหน่วยย่อยของระบบเศรษฐกิจมาศึกษา  โดยมีเป้าหมายเช่นเดียวกับการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์  คือการบริหารงานโดยการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
2.      เศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์  วิชาเศรษฐศาสตร์  มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิชารัฐศาสตร์การปกครอง  เพราะว่าการจะปกครองให้ประเทศมีความมั่นคงอยู่ได้นั้น  ต้องมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นรากฐาน  และประชาชนต้องอยู่ดีกินดี  แต่ถ้าประชาชนอดอยากแม้ประเทศจะมีกำลังทหารเข้มแข็งเพียงใดก็ยากที่ประเทศชาติจะมีความมั่นคงอยู่ได้  และในทำนองเดียวกัน  ถ้าประเทศขาดความมั่นคง  การเมืองไม่สงบเรียบร้อย  โจรผู้ร้ายชุกชุม  ผู้คนไม่เป็นอันทำมาหากิน  เศรษฐกิจก็ยากที่จะมีเสถียรภาพและเจริญเติบโตได้  รัฐจึงต้องใช้ทั้งรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ในการบริหารบ้านเมือง
3.      เศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์  นิติศาสตร์เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์  ที่มนุษย์ร่วมกันตั้งขึ้นมาเรียกว่า “กฎหมาย”  มีผลบังคับให้ทุกคนปฏิบัติตาม  เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  การออกกฎหมายมักจะใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุน  เพื่อป้องกันมิให้สังคมเดือดร้อน  เช่น  เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ  ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น  เป็นเรื่องทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขโดยการออกกฎหมายควบคุมราคาสินค้า
4.      เศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยา  จิตวิทยาเป็นการศึกษาถึงสิ่งที่จูงใจให้มนุษย์  แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  ออกมา  เศรษฐศาสตร์ก็ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม  เช่น  พฤติกรรมของผู้บริโภคพฤติกรรมของผู้ผลิต  ดังนั้น  จิตวิทยาจึงช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์ได้เข้าใจมูลเหตุจูงใจในพฤติกรรมของมนุษย์ดียิ่งขึ้น
5.      เศรษฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์  ภูมิศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ    ดินฟ้าอากาศ  ที่ตั้งของเศรษฐกิจหรือประเทศต่าง ๆ ดังนั้น  ความรู้ด้านภูมิศาสตร์จึงช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น  เช่น  การผลิตที่เหมาะสมกับทรัพยากร  การค้าระหว่างประเทศ
6.      เศรษฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์  การใช้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์มาช่วยอธิบายหรือคาดคะเนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อาจเป็นสิ่งเตือนใจให้นักเศรษฐศาสตร์ระลึกว่า  ถ้ามีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นก็จะมีอีกเหตุการณ์หนึ่งติดตามมา  เพื่อจะได้เตรียมรับเหตุการณ์นั้นดัดียิ่งขึ้น
ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 
ความต้องการของมนุษย์โดยทั่ว ๆ ไปมีอยู่อย่างไม่จำกัด  แต่ปัจจัยที่จะนำมาผลิตสินค้าและบริการ  เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์นั้นมีค่อนข้างจำกัด  จึงเกิดปัญหาว่าจะเลือกใช้และแบ่งสรรทรัพยากรอันจำกัดนั้นอย่างไร  จึงจะสนองความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  นี่คือ  ที่มาของปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจซึ่งทุกสังคมจะต้องประสบ 3 ประการ ได้แก่
1.       ผลิตอะไร  (What  to  produce) เป็นปัญหาที่จะต้องตัดสินใจว่า  ควรจะผลิตสินค้าอะไรและบริการอะไร  จะผลิตจำนวนเท่าใด  จึงจะเพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นของคนในสังคม  โดยการจัดลำดับความสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการนั้น  คือ  สินค้าและบริการชนิดใดที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญมากต่อสังคมจะผลิตขึ้นก่อน  ส่วนสินค้าหรือบริการชนิดใดที่มีความจำเป็นลดหลั่นลงมาก็จะผลิตขึ้นภายหลัง
2.       ผลิตอย่างไร (How  to  produce)  เป็นปัญหาที่จะต้องตัดสินใจต่อไปว่า   สินค้าและบริการที่เราตัดสินใจเลือกผลิตแล้วนั้นจะผลิตอย่างไรหรือวิธีใด  จึงจะผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสู.สุดหรือเสียต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำสุด
3.       ผลิตเพื่อใคร  (For  whom  to  produce) เป็นการตัดสินใจอีกว่า  สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาแล้วนั้นจะแบ่งสรรหรือแจกจ่ายแก่ใครบ้างจึงจะยุติธรรมและเหมาะสม
ความรู้พื้นฐานในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
              เพื่อให้การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นที่เข้าใจได้ดี  จำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจข้อเท็จจริงเบื้องต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์บางประการ
    1. ความต้องการ  (Want) ทางเศรษฐศาสตร์  หมายถึง  ความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งสินค้าและบริการ  ความต้องการของมนุษย์กระตุ้นให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าและบริการใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  ความต้องการของมนุษย์แบ่งออกได้ดังนี้
    1.1 ความต้องการโดยทั่วไปไม่มีที่สิ้นสุด  โดยทั่วไปวัตถุสิ่งของที่มนุษย์ต้องการมีมากมายไม่มีที่สิ้นสุด    เช่น  เราต้องการบ้านคุ้มแดดคุ้มฝน  เมื่อได้มาแล้วก็ต้องการคฤหาสน์ใหญ่โตขึ้น  ต้องการเครื่องประดับ  รถยนต์  โทรศัพท์มือถือ  และอื่นๆ  นับเป็นความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด 
    1.2 ความต้องการเฉพาะอย่างย่อมมีที่สิ้นสุด  ความต้องการของมนุษย์  ในสิ่งของอย่างหนึ่งในระยะเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งอาจมีที่สิ้นสุด  เช่น  เมื่อตื่นนอนเราหิวต้องการอาหารเช้า  พอกินจนอิ่มแล้วความต้องการมื้อเช้าในวันนั้นก็สิ้นสุดลง  เป็นต้น
    1.3 ความต้องการจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อได้รับสิ่งของมาบำบัดความต้องการนั้นมากขึ้น  เช่น  เมื่อเรากระหายน้ำจะดื่มน้ำแก้วที่ 1,2,3 และ 4  ซึ่งความต้องการดื่มน้ำแก้วที่  1 จะมีมากกว่าความต้องการดื่มน้ำแก้วที่ ,2,3 และ 4 ซึ่งความต้องการดื่มน้ำจะลดลงตามลำดับ
    1.4 ความต้องการบางอย่างสามารถใช้ทดแทนกันได้  เนื่องจากสิ่งของที่เราต้องการกินหรือต้องการใช้บางอย่างอาจใช้ทดแทนกันได้  เช่น  รับประทานขนมจีนแทนข้าวได้  ใช้ดินสอเขียนแทนปากกาได้
    1.5 ความต้องการบางอย่างใช้ควบคู่กัน  เมื่อเราซื้อสิ่งของอย่างหนึ่งมาใช้แล้ว  ก็เป็นภาระว่าจะต้องหาวื้อของอีกอย่างหนึ่งมาใช้ร่วมกัน  เช่น  เมื่อซื้อโทรศัพท์มือถือก็ต้องซื้อซิมการ์ด  และเมื่อซื้อรองเท้าแล้วก็ต้องซื้อถุงเท้าด้วย
    1.6 ความต้องการอาจกลายเป็นนิสัย  เมื่อเราต้องการสิ่งใดแล้วได้รับตอบสนองไปนาน ๆ ก็อาจต้องการสิ่งนั้นประจำจนเป็นนิสัยได้  เช่น  การดื่มกาแฟตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารทุกวันจนกลายเป็นนิสัยประจำตัวที่จะต้องดื่มกาแฟในตอนเช้าทุกวัน
     2. ทรัพยากร  (Resources) เมื่อมนุษย์เรามีความต้องการสิ่งของต่าง ๆ จึงต้องหามาสนองหรือบำบัดความต้องการ  สิ่งของที่มนุษย์นำมาใช้บำบัดความต้องการเรียกว่า  สินค้า  (Goods)  และบริการ (Services)  ซึ่งสามารถผลิตได้จากวัสดุต่าง ๆ ที่เรียกว่าปัจจัยการผลิต  ซึ่งมีทั้งทรัพยากรธรรมชาติ  (Natural  resources)  และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น  (Man  made  resources)  ตลอดจนทรัพยากรที่เป็นตัวมนุษย์เอง  (Human  resources)  ทรัพยากรแบ่งออกเป็น  ประเภท  ตามคุณค่าดังนี้
       2.1 ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ  (Economic  resources)  หมายถึง  ทรัพยากรที่มีคุณค่าในตัวเอง  สามารถนำมาผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์  ทรัพยากรประเภทนี้มีปริมาณจำกัดและมีราคาหรือคิดเป็นมูลค่า  ดังนั้น  การที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรประเภทนี้จึงต้องมีการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน  จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง  ทรัพยากรทางเศรษฐกิจประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น  แร่ธาติ  น้ำมัน  และสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นมา  เช่น  เสื้อผ้า  อาหาร  ยารักษาโรค  เงินทุน  แรงงานมนุษย์
       2.2 ทรัพยากรที่ได้เปล่า  (Free  resources)  หมายถึง  ทรัพยากรที่มีปริมาณมากและมีอยู่ไม่จำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการของมนุษย์  จึงเป็นทรัพยากรที่ทุกคนสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าหรือให้ราคาในทรัพยากรประเภทนั้น  เช่น  อากาศ  น้ำ  เม็ดทราย  เป็นต้น  ทรัพยากรที่ได้เปล่านี้บางครั้งอาจกลายเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจก็ได้  ถ้าเปลี่ยนสภาพหรือเพิ่มเงื่อนไขบางอย่าง  เช่น  น้ำ  ถ้านำน้ำมาใส่ไว้ในภาชนะก็จะมีราคาและสามารถซื้อขายกันได้หรือ  ถ้านำอากาศมาอัดใส่ถังไว้กลายเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้
    3. โครงสร้างของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ   
                 กิจกรรมทางเศรษฐกิจประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญมี  4  ประการ  ดังนี้   
    3.1 การผลิต  (Production)  คือ  การนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาแปรรูปเป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์  ทำให้มนุษย์ได้รับความพึงพอใจจากสินค้าและบริการที่มนุษย์ผลิตขึ้น
3.2   การบริโภค  (Consumption)  คือ  การใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์   เช่น  เมื่อหิวก็รับประทานอาหาร  เมื่อเจ็บป่วยก็รับการรักษา  จากแพทย์  เป็นต้น
3.3   การกระจาย  (Distribution)  คือ  การจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ  ซึ่งเป็นผลผลิตไปยังผู้บริโภค  ตลอดจนการแบ่งสรรผลตอบแทนไปยังผู้มีส่วนร่วมในการผลิต  ซึ่งแบ่งออกเป็น  ประเภท  คือ
3.3.1         การกระจายสินค้า  คือ  การจำหน่ายจ่ายแจกผลผลิตไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ
3.3.2         การกระจายรายได้  คือ  การจ่ายผลตอบแทนของปัจจัยการผลิต  (ค่าเช่า  ค่าจ้าง  ดอกเบี้ย  กำไร)  ไปยังเจ้าของปัจจัยการผลิต  (ที่ดิน  แรงงาน  ทุน  ผู้ประกอบการ)
    3.4  การแลกเปลี่ยน  (Exchange)  ในทางเศรษฐศาสตร์  คือ  การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของสินค้าและบริการต่าง ๆ  โดยการนำเอาสินค้าและบริการอย่างหนึ่งไปแลกกับสินค้าและบริการอีกอย่างหนึ่ง  ด้วยวิธีการหรือรูปแบบต่าง ๆ  ในระบบเศรษฐกิจมีวิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยนเป็น  3   ขั้น  ดังนี้
    3.4.1 การแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้า  (Barter  system)  เป็นการนำเอาสินค้าและบริการมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง  แต่มีปัญหาต่าง ๆ  เกิดขึ้น  เช่น  ฝ่ายหนึ่งอาจมีสินค้าและบริการที่ไม่ตรงกับความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง  สินค้าที่แลกเปลี่ยนกันแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยไม่ได้  ขาดหน่วยนับที่ใช้วัดมูลค่าสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนกัน  และสินค้าบางอย่างเก็บไว้นานไม่ได้  เป็นต้น  การแลกเปลี่ยนโดยวิธีนี้ไม่สะดวก  จึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนแบบอื่น
    3.4.2 การแลกเปลี่ยนแบบใช้สื่อกลาง  สื่อกลางที่ใช้  คือ  สิ่งที่มีค่าในตัวเองซึ่งอาจเป็นสิ่งใดก็ได้ที่ตกลงยอมรับกันซึ่งในปัจจุบัน  เงินตรา  (Money)  เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทำให้เกิดการคล่องตัว
    3.4.3 การแลกเปลี่ยนแบบใช้สินเชื่อ  คือ  การใช้สิ่งต่าง ๆ  แทนเงิน  ได้แก่  ตั๋วแลกเงิน  บัตรเครดิต  เช็ค  บัตรสินเชื่อต่าง ๆ  การซื้อขายสินค้าโดยจ่ายเงินชำระหนี้ภายหลัง  ปัจจุบันนี้มีบทบาทมากขึ้น